วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประสบการณ์จากห้องเรียนผู้นำของสาธารณสุขมหิดล

กระบวนการเรียนการสอนวิชาภาวะผู้นำและพฤติกรรมองค์การ ในหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล มีกระบวนการที่หลากหลายและน่าสนใจ เช่น การอภิปรายแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการและผู้บริหารที่มีชื่อเสียง การศึกษาองค์การที่ประสบความสำเร็จ กระบวนการเหล่านี้สามารถสร้างความรู้และประสบการณ์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในต่อการเป็นผู้นำที่ดีและการทำงานในอนาคตได้เป็นอย่างดี สามารถประมวลโดยประยุกต์ตามทฤษฎีสามหลักที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานไว้หลายโอกาส คือ หลักคิด หลักวิชา และหลักปฏิบัติ ดังนี้


หลักคิด
งานสาธารณสุขในอนาคตจะมีความซับซ้อนและท้าทายอย่างมาก จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว การปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศทางชีวภาพ (Bioinformatics) และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลกสู่สังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุขแบบทวิภาระ (Double burden) ทั้งจากโรคเรื้อรังและโรคอุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ องค์การด้านสาธารณสุขต้องเผชิญกับความคาดหวังทั้งด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยมีการตรวจสอบคุณภาพผลงาน และความคุ้มค่าของการดำเนินงานด้านต่างๆ การเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนเหล่านี้ส่งผลให้องค์การทางสาธารณสุขต้องปรับบทบาทจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ให้ และผู้กำหนดกิจกรรมต่างๆ ไปสู่การดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยขับเคลื่อนงานสาธารณสุขผ่านการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Mobilization) มุ่งสู่การจัดการระบบสุขภาพ (Health system) ร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี การดำเนินการเหล่านี้จะสำเร็จได้จำเป็นต้องนักสาธารณสุขที่มีภาวะผู้นำ (Leadership) และความฉลาดทางอารมณ์ (Social Intelligence) ซึ่งมี 2 มิติ คือ การเข้าใจสังคม (Social Awareness) และการอยู่ในสังคม (Relationship Management) (นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์, 2553)
การเป็นผู้นำที่ดีจำเป็นต้องมีหลักคิดและความเข้าใจที่ชัดเจนใน ภาวะผู้นำ” ซึ่งหมายถึงการมีและใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่หรือทำงานร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ โดยที่ทุกฝ่ายได้รับความพึงพอใจโดยเท่าเทียมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (สุรชาติ ณ หนองคาย, 2551) จากหลักคิดดังกล่าวภาวะผู้นำนั้นต้องมีปัจจัยนำเข้าที่ดี คือ มีความรู้ ความสามรถ มีกระบวนการที่ดี คือ การใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อ และมีเป้าประสงค์ที่ดี คือ การบรรลุงานโดยทุกฝ่ายพึงพอใจ
          เราสามารถแบ่งผู้นำออกเป็น 4 ระดับ คือ (1) ผู้นำเบื้องต้น-เป็นโดยตำแน่ง (2) ผู้นำผู้คุ้นเคย-มุ่งคนปกป้องลูกน้องแต่ไม่พัฒนา (3) ผู้นำแบบหุ้นส่วน-มุ่งสร้างผลงาน ผลกำไร หุ้นส่วนทุกคนได้ผลประโยชน์แต่ขาดจริยธรรม และ (4) ผู้นำเปี่ยมด้วยศรัทธา-มุ่งสร้างศรัทธา อุดมการณ์ และพัฒนาคนและงาน (ม.ล.ชัยวัฒน์ ชยางกูร) การพัฒนาภาวะผู้นำในองค์การด้านสาธารณสุข ควรพัฒนาให้ไปสู่ผู้นำระดับที่ 4 คือ ผู้นำเปี่ยมด้วยศรัทธาจึงจะสามารถขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาทางด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

หลักวิชา
การที่จะบรรลุสู่ความเป็นผู้นำที่ดีจำเป็นต้องมีหลักวิชาที่ถูกต้อง เหมาะสม และประยุกต์ใช้ได้ใบริบทของสังคมไทย จากกระบวนการเรียนการสอนภาวะผู้นำและพฤติกรรมองค์การมีหลักวิชาที่เหมาะสมในการประยุกต์ใช้ในการเป็นผู้นำและบริหารทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้
การจัดการการเปลี่ยนแปลง ในการดำเนินงานด้านสาธารณสุขต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจากทั้งภายนอกและภายในองค์การ ผู้นำต้องมีหลักวิชาในการจัดการการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมี 4 กระบวนการหลัก ได้แก่ (1) การวางแผนการเปลี่ยนแปลง ผู้นำต้องวิเคราะห์องค์การและสถานการณ์ เลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับองค์การ ทั้งการเปลี่ยนโดยใช้อำนาจ การเปลี่ยนโดยใช้ความรู้ การเปลี่ยนโดยให้มีส่วนร่วม และการเปลี่ยนโดยเจรจาต่อรอง กลยุทธ์เหล่านี้ต้องใช้อย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ (2) การดำเนินการเปลี่ยนแปลง ผู้นำควรดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่สร้างการรับรู้ (Awareness) สร้างศรัทธา (Passion) ให้ศึกษาวิธี (Education) และส่งเสริมให้มีความสามรถ (Competency) โดยต้องคำนึงถึงแรงต้านการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละระยะซึ่งโดยทั่วไปจะมีกาตอบโต้โดยวิธีสร้างสรรค์(40%) ปรับตัว (40%) และ อนุรักษ์นิยม(20%) (สุรชาติ ณ หนองคาย) หลักวิชาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การจัดการความรู้ (Knowledge Management) ซึ่งองค์การสาธารณสุขมีความจำเป็นต้องใช้หลักวิชานี้ในการจัดการข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์การ เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ขององค์การและเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องยั่งยืน (สุธี อยู่สถาพร, 2553)

หลักปฏิบัติ
การเป็นผู้นำที่ดีจำเป็นต้องมีความสามารถในการปฏิบัติหรือเทคนิคในการบริหารอย่างดี จากการศึกษาวิชาภาวะผู้นำและพฤติกรรมองค์การโดยการฟังบรรยายและอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น พลโทธวัชชัย ศศิประภา และกรณีศึกษาความสำเร็จของมหาวิทยาลัยมหิดล สรุปเป็นหลักปฏิบัติเพื่อประยุกต์ในงานสาธารณสุขในอนาคตดังนี้
หลักปฏิบัติที่ 1 “คนคือทุกสิ่ง” บุคคลคือปัจจัยแห่งความสำเร็จสูงสุดขององค์การ ในการนำองค์การผู้นำต้องสร้างอิทธิพลด้านอุดมการณ์ หรือ ศรัทธา (Individualized Influence) สร้างแรงดลใจ (Inspirational motivation) กระตุ้นการใช้ปัญญา (Intellectual stimulation) และมุ่งความสัมพันธ์เป็นรายคน (Individualized consideration) โดยมีหลักธรรมที่เป็นแนวปฏิบัติ คือ สังคหวัตถุ 4 อันเป็นหลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจหรือน้ำใจของกันและกัน ประกอบด้วย (1) ทาน ให้ปันสิ่งของแก่คนที่ควรให้ (2) ปิยวาจา ใช้คำพูดไพเราะ (3) อัตถจริยา ประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และ(4) สมานัตตตา วางตนให้เหมาะสมกับฐานะของตน (กิตติธัธ มงคลศิวะและคณะ, 2554)
หลักปฏิบัติที่ 2 Think big but start smallมีจุดมุ่งหวังที่ยิ่งใหญ่ แต่ควรค่อยๆ ทำไปทีละน้อย โดยสร้างความสำเร็จไปในระหว่างทางให้เห็นชัดเจนซึ่งจะทำให้เพื่อนร่วมงานมีกำลังใจ
หลักปฏิบัติที่ 3 “ลงมือทำให้สำเร็จ” ผู้บริหารโดยเฉพาะที่มาจากนักวิชาการมักเข้าใจว่าการดำเนินการเป็นรายละเอียดไม่ใช่หน้าที่ของผู้นำซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง วิธีการที่จะดำเนินการได้สำเร็จ คือ หยุดพูดและเริ่มลงมือทำโดยมีหลักธรรมที่เป็นแนวปฏิบัติ คือ อิทธิบาท 4 อันเป็นหลักธรรมที่ทำให้เกิดความสำเร็จ ประกอบด้วย (1) ฉันทะ ความพึงพอใจในงาน (2) วิริยะ ความขยันหมั่นเพียร (3) จิตตะ ฝักใฝ่เอาใจใส่งาน และ (4) วิมังสา ไตร่ตรองหาเหตุผล
หลักปฏิบัติที่ 4 “ซื่อสัตย์ เสียสละ” มีหลักธรรมที่ควรตระหนักอยู่เสมอคือ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ซึ่งนับเป็นหลักธรรมที่ช่วยคุ้มครองโลก ได้แก่ หิริ คือ ความละอายในตนเอง และโอตัปปะความเกรงกลัวต่อทุกข์ และความเสื่อมแล้วไม่กระทำความชั่ว
หลักปฏิบัติที่ 5 “ยุติธรรม” สิ่งที่ผู้บริหารควรหลีกเลี่ยง คือ อคติ 4 อันเป็นทางแห่งความเสื่อมเสียความเที่ยงธรรม ได้แก่ (1) ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักใคร่ (2) โทสาคติ ลำเอียงเพราะโกรธ (3) โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา และ (4) ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว (ฉัตรสุมน พฤฒิภิญโญ, 2553)

กิจกรรมที่ประยุกต์จากห้องเรียน
จากการเรียนการสอนกรณีนี้ มีกระบวนการที่น่าสนใจและสามารถนำไปประยุกต์ในการพัฒนาภาวะผู้นำสำหรับโรงพยาบาลที่ผู้เขียนปฏิบัติงานอยู่ดังนี้
โครงการห้องเรียนผู้นำ โดยจัดกิจกรรมให้หัวหน้างานทุกงานในโรงพยาบาลได้พัฒนาภาวะผู้นำผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม จากกรณีศึกษาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในโรงพยาบาล โดยจัดให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเดือนละ 1 ครั้ง
โครงการภาวะผู้นำสำหรับทุกคนโดยจัดให้มีผู้นำที่มีชื่อเสียงและเป็นแบบอย่างที่ดีมาอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทุกคน โดยจัดกิจกรรมปีละ 2 ครั้ง

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554


"EMS และ SRRT" ภูมิคุ้มภัยของชุมชนคนกมลาไสย

สุพัฒน์ ธาตุเพชร, ยุพาพิณ นาชัยเลิศ, พรพัฒน์ ภูนากลม และคณะ
โรงพยาบาลกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
              
บริบทของพื้นที่
กมลาไสยเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15–17 ในยุคทวารวดี ชาวกมลาไสยได้พัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องกระทั่งแยกตัวเป็นอิสระจากเมืองกาฬสินธุ์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2460  อำเภอกมลาไสยอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ห่างจากตัวจังหวัด 13 กิโลเมตร มีประชากรประมาณเจ็ดหมื่นคน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำปาวและแม่น้ำชีมาบรรจบหล่อเลี้ยง ระบบชลประทานครอบคลุมพื้นที่กว่าร้อยละ 70 ผืนดินที่นี่มีความอุดมสมบรูณ์จนขึ้นชื่อเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศไทยอีกแห่งหนึ่ง ประชาชนส่วนใหญ่จึงเป็นกระดูกสันหลังของชาติทำนากันถึงปีละ 2-3 ครั้ง
โรงพยาบาลกมลาไสยก่อตั้งเพื่อบริการประชาชนในอำเภอกมลาไสยและพื้นที่ใกล้เคียง ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ในระยะแรกปัญหาสุขภาพของพื้นที่ คือ โรคติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับอาชีพทำนา ได้แก่ โรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) หรือ โรคฉี่หนู ซึ่งชาวบ้านที่กมลาไสยจะเรียกโรคนี้อย่างคุ้นเคยว่า ไข้สารหนู นอกจากนั้นยังมีโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่พี่น้องมาก คือ เยื้อหุ้มสมองอักเสบจากพยาธิ (Eosinophilic meningitis) ซึ่งเรียกกันติดปากว่า โรคปวดหัวสารหอย และยังมีโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น ไข้เลือดออก โรคเรื้อน โรคอุจาระร่วง ซึ่งสร้างความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สินให้แก่ชาวกมลาไสยมาอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลกมลาไสยได้พัฒนาและแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาสุขภาพเหล่านี้โดยการวิจัยและพัฒนา สร้างการเรียนรู้จนมีกระบวนการรักษาพยาบาลโรคติดเชื้อเหล่านี้อย่างมีคุณภาพ เป็นที่เลื่องลือว่าโรงพยาบาลกมลาไสยเป็น ศูนย์สารหนูและสารหอย ทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงหลั่งไหลมารับบริการมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการคมนาคมอย่างรวดเร็ว โรงพยาบาลกมลาไสยจึงได้พัฒนาเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง ในปี พ.ศ. 2539 และขยายต่อเป็น 90 เตียงในปี พ.ศ. 2553 แม้ทีมงานสาธารณสุขอำเภอกมลาไสยจะทำงานอย่างแข็งขันในนามคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ หรือ คปสอ แต่ยังพบว่าพี่น้องยังเจ็บป่วยและสูญเสียจากโรคติดเชื้อเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเห็นได้จากระหว่าง ปี พ.ศ. 2551-2553 มีผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคฉี่หนูเฉลี่ยปีละ 70 ราย นับวันนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยรวมกันได้เฉลี่ย 250 วันต่อปี และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเกือบทุกปี ในขณะที่ไข้เลือดออกก็เป็นปัญหาตลอด เป็นสาเหตุให้มีผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลเฉลี่ยปีละ 140 ราย นับวันนอนโรงพยาบาลรวมกันได้เฉลี่ย 500 วันต่อปี
ในขณะที่โรคติดเชื้อยังเป็นปัญหาที่สำคัญ ชาวกมลาไสยก็ต้องเผชิญปัญหาโรคที่มีสาเหตุจากวิถีชีวิตแบบสังคมเมือง ทั้งโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร สภาพการณ์แบบนี้นับเป็นงานหนักของทีมสาธารณสุขที่ต้องต่อสู้กับปัญหาโรคติดเชื้อและโรคเรื้อรังไปพร้อมกัน เป็นงานหนักแบบ ทวิภาระ หรือเรียกว่าโดนสองเด้ง เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนและมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย การแก้ปัญหาโดยอาศัยแรงจากภาคสาธารณสุขเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอที่จะจัดการกับปัญหาสุขภาพได้ ดังนั้นทีม คปสอ. จึงได้พัฒนาการดำเนินงานต่าง ๆ ร่วมกับ เครือข่ายภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 15 แห่ง ร่วมกันพัฒนา หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น (Emergency Medical Service: EMS)” เพื่อให้บริการช่วยเหลือประชาชนเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือประสบอุบัติเหตุ จนมีความครอบคลุมพื้นที่ทุกตำบลมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบเรื่องกำลังคนและงบประมาณ ส่วน คปสอ. รับผิดชอบการประสานงานและสนับสนุนวิชาการ การดำเนินงานร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในลักษณะนี้ประสบความสำเร็จ และได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีจากพี่น้องประชาชน คปสอ. จึงมีการดำเนินงานสาธารณสุขร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากการร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วยังมีเครือข่ายนักวิชาการในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพของทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ของสำนักงานป้องคันและควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น
แม้อำเภอกมลาไสยจะมี ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (Surveillance and Rapid Response Team: SRRT) ระดับอำเภอ ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2548 แต่ก็เป็นการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขซึ่งในระยะแรกยังไม่มีประสิทธิภาพ ขาดความครอบคลุม และความต่อเนื่อง จนปลายปี พ.ศ. 2553 มีการร่วมมือกับนักวิชาการในการวิจัยและพัฒนางาน SRRT จึงเกิดการพัฒนาและขยายไปสู่ทุกตำบล ครอบคลุมทุกชุมชน เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาแบบทวิภาระทั้ง คือ ปัญหาโรคติดต่อ และโรคเรื้อรังพร้อมกัน คปสอ.กมลาไสยจึงใช้จุดแข็งด้าน EMS และ SRRT ผสมผสานร่วมกันในการจัดการกับความท้าทายนี้ โดยขยายความร่วมมือกับส่วนราชการอื่น ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนักวิชาการ


กระบวนการดำเนินงาน

การขับเคลื่อนการพัฒนา เริ่มจากทีม คปสอ. คิดทบทวนมองหาพันธมิตร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งผู้นำชุมชน อสม. ครู นักการเมือง อบต. เทศบาล ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ปศุสัตว์ เกษตร สาธารณสุข และนักวิชาการ จากนั้นประธาน คปสอ. นพ.สุพัฒน์ ธาตุเพชร (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกมลาไสย) ซึ่งรู้จักคุ้นเคยกับทุกภาคส่วนเป็นอย่างดีจากการทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องมาถึง 18 ปี ได้ปรึกษานายอำเภอกมลาไสย เพื่อเชิญเข้าร่วมการพัฒนาสู่อำเภอควบคุมโรคเข็มแข็ง โดยทำงานร่วมกันในนามคณะกรรมการอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งอำเภอกมลาไสย มีการประชุมเพื่อ ระดมความคิด แลกเปลี่ยนความฝัน ร่วมกันวางบทบาท

นายอำเภอกมลาไสย (นายธนูศิลป์ ไชยศิริ) เป็นข้าราชการสายปกครองมืออาชีพที่ให้ความสำคัญกับงานด้านสุขภาพอย่างมาก ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการอำเภอควบคุมโรคเข็มแข็ง


"ผมต้องดูแลสุขภาพ หากถูกเชิญไปร่วมงานผมต้องสำรวจตัวเองก่อนทุกครั้งว่าตัวเองสุขภาพดีหรือยัง การทำงานของสาธารณสุขตอบสนองต่อความทุกข์ความสุขของพี่น้องประชาชนและเป็นบทบาทหน้าที่ของนายอำเภออยู่แล้ว"
นายธนูศิลป์ ไชยศิริ
นายอำเภอกมลาไสย
26 พฤษภาคม 2554










วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

บรรณานุกรมกับเอกสารอ้างอิงนั้นต่างกันอย่างไร


บรรณานุกรมกับเอกสารอ้างอิง

บรรณานุกรม (Bibliography) หมายถึง รายการของสิ่งพิมพ์และวัสดุความรู้ต่าง ๆ ที่ได้ใช้ประกอบการเขียน ทั้งที่ปรากฏชัดเจนโดยเขียนอ้างอิงไว้ และส่วนที่ไม่ปรากฏชัดเจนแต่อาจเป็นเพียงการรวบรวมความคิดหลาย ๆ แนวแล้วนำมาเรียบเรียงใหม่(1) บรรณานุกรมจะเขียนรวบรวมไว้ท้ายเล่ม นิยมเขียนตามระบบนามปีซึ่งจะเรียงตามลำดับอักษร
เอกสารอ้างอิง (Reference) หมายถึง การบอกแหล่งที่มาของข้อความที่ใช้อ้างอิง ในเนื้อหาที่นำมาเขียนเรียบเรียง(2) ในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพนิยมใช้ Vancouver style ซึ่งจะเขียนเรียงตามลำดับการอ้างอิงในเนื้อหา โดยไม้ได้เรียงตามตัวอักษร
จะเห็นได้ว่าความต่างที่สำคัญอยู่ที่วัตถุประสงค์ โดยเอกสารอ้างอิงมุ่งบอกแหล่งที่มาของข้อความที่ใช้อ้างถึงเท่านั้น ส่วนบรรณานุกรมบอกแหล่งที่มาทั้งข้อความที่ใช้อ้างถึงและสื่ออื่น ๆ ทั้งหมดที่ใช้ประกอบ

Republic of Korea, Nov 2009
เอกสารอ้างอิง