วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประสบการณ์จากห้องเรียนผู้นำของสาธารณสุขมหิดล

กระบวนการเรียนการสอนวิชาภาวะผู้นำและพฤติกรรมองค์การ ในหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล มีกระบวนการที่หลากหลายและน่าสนใจ เช่น การอภิปรายแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการและผู้บริหารที่มีชื่อเสียง การศึกษาองค์การที่ประสบความสำเร็จ กระบวนการเหล่านี้สามารถสร้างความรู้และประสบการณ์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในต่อการเป็นผู้นำที่ดีและการทำงานในอนาคตได้เป็นอย่างดี สามารถประมวลโดยประยุกต์ตามทฤษฎีสามหลักที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานไว้หลายโอกาส คือ หลักคิด หลักวิชา และหลักปฏิบัติ ดังนี้


หลักคิด
งานสาธารณสุขในอนาคตจะมีความซับซ้อนและท้าทายอย่างมาก จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว การปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศทางชีวภาพ (Bioinformatics) และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลกสู่สังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุขแบบทวิภาระ (Double burden) ทั้งจากโรคเรื้อรังและโรคอุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ องค์การด้านสาธารณสุขต้องเผชิญกับความคาดหวังทั้งด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยมีการตรวจสอบคุณภาพผลงาน และความคุ้มค่าของการดำเนินงานด้านต่างๆ การเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนเหล่านี้ส่งผลให้องค์การทางสาธารณสุขต้องปรับบทบาทจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ให้ และผู้กำหนดกิจกรรมต่างๆ ไปสู่การดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยขับเคลื่อนงานสาธารณสุขผ่านการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Mobilization) มุ่งสู่การจัดการระบบสุขภาพ (Health system) ร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี การดำเนินการเหล่านี้จะสำเร็จได้จำเป็นต้องนักสาธารณสุขที่มีภาวะผู้นำ (Leadership) และความฉลาดทางอารมณ์ (Social Intelligence) ซึ่งมี 2 มิติ คือ การเข้าใจสังคม (Social Awareness) และการอยู่ในสังคม (Relationship Management) (นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์, 2553)
การเป็นผู้นำที่ดีจำเป็นต้องมีหลักคิดและความเข้าใจที่ชัดเจนใน ภาวะผู้นำ” ซึ่งหมายถึงการมีและใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่หรือทำงานร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ โดยที่ทุกฝ่ายได้รับความพึงพอใจโดยเท่าเทียมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (สุรชาติ ณ หนองคาย, 2551) จากหลักคิดดังกล่าวภาวะผู้นำนั้นต้องมีปัจจัยนำเข้าที่ดี คือ มีความรู้ ความสามรถ มีกระบวนการที่ดี คือ การใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อ และมีเป้าประสงค์ที่ดี คือ การบรรลุงานโดยทุกฝ่ายพึงพอใจ
          เราสามารถแบ่งผู้นำออกเป็น 4 ระดับ คือ (1) ผู้นำเบื้องต้น-เป็นโดยตำแน่ง (2) ผู้นำผู้คุ้นเคย-มุ่งคนปกป้องลูกน้องแต่ไม่พัฒนา (3) ผู้นำแบบหุ้นส่วน-มุ่งสร้างผลงาน ผลกำไร หุ้นส่วนทุกคนได้ผลประโยชน์แต่ขาดจริยธรรม และ (4) ผู้นำเปี่ยมด้วยศรัทธา-มุ่งสร้างศรัทธา อุดมการณ์ และพัฒนาคนและงาน (ม.ล.ชัยวัฒน์ ชยางกูร) การพัฒนาภาวะผู้นำในองค์การด้านสาธารณสุข ควรพัฒนาให้ไปสู่ผู้นำระดับที่ 4 คือ ผู้นำเปี่ยมด้วยศรัทธาจึงจะสามารถขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาทางด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

หลักวิชา
การที่จะบรรลุสู่ความเป็นผู้นำที่ดีจำเป็นต้องมีหลักวิชาที่ถูกต้อง เหมาะสม และประยุกต์ใช้ได้ใบริบทของสังคมไทย จากกระบวนการเรียนการสอนภาวะผู้นำและพฤติกรรมองค์การมีหลักวิชาที่เหมาะสมในการประยุกต์ใช้ในการเป็นผู้นำและบริหารทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้
การจัดการการเปลี่ยนแปลง ในการดำเนินงานด้านสาธารณสุขต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจากทั้งภายนอกและภายในองค์การ ผู้นำต้องมีหลักวิชาในการจัดการการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมี 4 กระบวนการหลัก ได้แก่ (1) การวางแผนการเปลี่ยนแปลง ผู้นำต้องวิเคราะห์องค์การและสถานการณ์ เลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับองค์การ ทั้งการเปลี่ยนโดยใช้อำนาจ การเปลี่ยนโดยใช้ความรู้ การเปลี่ยนโดยให้มีส่วนร่วม และการเปลี่ยนโดยเจรจาต่อรอง กลยุทธ์เหล่านี้ต้องใช้อย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ (2) การดำเนินการเปลี่ยนแปลง ผู้นำควรดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่สร้างการรับรู้ (Awareness) สร้างศรัทธา (Passion) ให้ศึกษาวิธี (Education) และส่งเสริมให้มีความสามรถ (Competency) โดยต้องคำนึงถึงแรงต้านการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละระยะซึ่งโดยทั่วไปจะมีกาตอบโต้โดยวิธีสร้างสรรค์(40%) ปรับตัว (40%) และ อนุรักษ์นิยม(20%) (สุรชาติ ณ หนองคาย) หลักวิชาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การจัดการความรู้ (Knowledge Management) ซึ่งองค์การสาธารณสุขมีความจำเป็นต้องใช้หลักวิชานี้ในการจัดการข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์การ เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ขององค์การและเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องยั่งยืน (สุธี อยู่สถาพร, 2553)

หลักปฏิบัติ
การเป็นผู้นำที่ดีจำเป็นต้องมีความสามารถในการปฏิบัติหรือเทคนิคในการบริหารอย่างดี จากการศึกษาวิชาภาวะผู้นำและพฤติกรรมองค์การโดยการฟังบรรยายและอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น พลโทธวัชชัย ศศิประภา และกรณีศึกษาความสำเร็จของมหาวิทยาลัยมหิดล สรุปเป็นหลักปฏิบัติเพื่อประยุกต์ในงานสาธารณสุขในอนาคตดังนี้
หลักปฏิบัติที่ 1 “คนคือทุกสิ่ง” บุคคลคือปัจจัยแห่งความสำเร็จสูงสุดขององค์การ ในการนำองค์การผู้นำต้องสร้างอิทธิพลด้านอุดมการณ์ หรือ ศรัทธา (Individualized Influence) สร้างแรงดลใจ (Inspirational motivation) กระตุ้นการใช้ปัญญา (Intellectual stimulation) และมุ่งความสัมพันธ์เป็นรายคน (Individualized consideration) โดยมีหลักธรรมที่เป็นแนวปฏิบัติ คือ สังคหวัตถุ 4 อันเป็นหลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจหรือน้ำใจของกันและกัน ประกอบด้วย (1) ทาน ให้ปันสิ่งของแก่คนที่ควรให้ (2) ปิยวาจา ใช้คำพูดไพเราะ (3) อัตถจริยา ประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และ(4) สมานัตตตา วางตนให้เหมาะสมกับฐานะของตน (กิตติธัธ มงคลศิวะและคณะ, 2554)
หลักปฏิบัติที่ 2 Think big but start smallมีจุดมุ่งหวังที่ยิ่งใหญ่ แต่ควรค่อยๆ ทำไปทีละน้อย โดยสร้างความสำเร็จไปในระหว่างทางให้เห็นชัดเจนซึ่งจะทำให้เพื่อนร่วมงานมีกำลังใจ
หลักปฏิบัติที่ 3 “ลงมือทำให้สำเร็จ” ผู้บริหารโดยเฉพาะที่มาจากนักวิชาการมักเข้าใจว่าการดำเนินการเป็นรายละเอียดไม่ใช่หน้าที่ของผู้นำซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง วิธีการที่จะดำเนินการได้สำเร็จ คือ หยุดพูดและเริ่มลงมือทำโดยมีหลักธรรมที่เป็นแนวปฏิบัติ คือ อิทธิบาท 4 อันเป็นหลักธรรมที่ทำให้เกิดความสำเร็จ ประกอบด้วย (1) ฉันทะ ความพึงพอใจในงาน (2) วิริยะ ความขยันหมั่นเพียร (3) จิตตะ ฝักใฝ่เอาใจใส่งาน และ (4) วิมังสา ไตร่ตรองหาเหตุผล
หลักปฏิบัติที่ 4 “ซื่อสัตย์ เสียสละ” มีหลักธรรมที่ควรตระหนักอยู่เสมอคือ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ซึ่งนับเป็นหลักธรรมที่ช่วยคุ้มครองโลก ได้แก่ หิริ คือ ความละอายในตนเอง และโอตัปปะความเกรงกลัวต่อทุกข์ และความเสื่อมแล้วไม่กระทำความชั่ว
หลักปฏิบัติที่ 5 “ยุติธรรม” สิ่งที่ผู้บริหารควรหลีกเลี่ยง คือ อคติ 4 อันเป็นทางแห่งความเสื่อมเสียความเที่ยงธรรม ได้แก่ (1) ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักใคร่ (2) โทสาคติ ลำเอียงเพราะโกรธ (3) โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา และ (4) ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว (ฉัตรสุมน พฤฒิภิญโญ, 2553)

กิจกรรมที่ประยุกต์จากห้องเรียน
จากการเรียนการสอนกรณีนี้ มีกระบวนการที่น่าสนใจและสามารถนำไปประยุกต์ในการพัฒนาภาวะผู้นำสำหรับโรงพยาบาลที่ผู้เขียนปฏิบัติงานอยู่ดังนี้
โครงการห้องเรียนผู้นำ โดยจัดกิจกรรมให้หัวหน้างานทุกงานในโรงพยาบาลได้พัฒนาภาวะผู้นำผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม จากกรณีศึกษาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในโรงพยาบาล โดยจัดให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเดือนละ 1 ครั้ง
โครงการภาวะผู้นำสำหรับทุกคนโดยจัดให้มีผู้นำที่มีชื่อเสียงและเป็นแบบอย่างที่ดีมาอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทุกคน โดยจัดกิจกรรมปีละ 2 ครั้ง