พยาธิใบไม้ปอดปทุมธานีและนครนายก



การสอบสวนโรคพยาธิใบไม้ปอด จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดนครนายก กันยายนตุลาคม 2551

พรพัฒน์ ภูนากลม1  อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์1  เบญจวรรณ ระลึก1  สุภาพ รอนศึก2  วิไลลักษณ์ หฤหรรษพงศ์2  ฉวีวรรณ นาคอุไร3 ทรรศน์พร ไหมสมบุญ3  มณี ผลภาษี4  วิวัฒน์ พวงประเสริฐ4  นีรนุช จารย์ลี5  สมบูรณ์ สุขสำราญ5  รุ่งนภา ประสานทอง6

1โครงการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม กระทรวงสาธารณสุข  2สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 กทม.
3สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี  4สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครนายก  5โรงพยาบาลนครนายก  6สำนักระบาดวิทยา

ความเป็นมา
พยาธิใบไม้ปอด (Paragonimus species) เป็นพยาธิใบไม้ซึ่งติดต่อสู่คนโดยการรับประทานปูหรือกุ้งดิบที่มีพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อ (Metacercaria) อาศัยอยู่ ในประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2471 ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ [1, 2] สำหรับจังหวัดปทุมธานีไม่เคยมีรายงาน แต่พบในจังหวัดใกล้เคียงคือจังหวัดนครนายก ซึ่งมีรายงานครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2506 และพบประปรายต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 2530 [2]
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2551 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานีว่ามีผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ปอด จำนวน 46 ราย ในโรงงานแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ได้สอบสวนโรค ระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน และได้ศึกษาสถานการณ์โรคพยาธิใบไม้ปอดในจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดนครนายกซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกัน ระหว่างวันที่ 30 – 31 ตุลาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและการระบาดของโรค ค้นหาแหล่งโรค ศึกษาลักษณะทางระบาดวิทยาของโรคและเสนอแนะมาตรการป้องกันและควบคุมโรคพยาธิใบไม้ปอดที่เหมาะสม

วิธีการศึกษา
                เป็นการศึกษาทางระบาดวิทยาเชิงพรรณนา ประกอบด้วยการทบทวนบันทึกการตรวจสุขภาพประจำปีของพนักงานโรงงาน การสัมภาษณ์ผู้ป่วยสงสัยเป็นโรคพยาธิใบไม้ปอด การตรวจยืนยันการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธีการตรวจเสมหะ 3 วันติดต่อกัน (Sputum examination with concentration method) ตรวจอุจจาระ (Stool examination with concentration method) และตรวจเลือดเพื่อหาแอนติบอดีต่อพยาธิใบไม้ปอด (Western blot for detection IgG antibody) การค้นหาและทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ปอดที่ได้รับการวินิจฉัย ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2546 – 31 ตุลาคม 2551 ในโรงพยาบาลปทุมธานีและโรงพยาบาลนครนายก นอกจากนั้นยังได้ศึกษาสิ่งแวดล้อมภายในโรงงานและแหล่งที่มาของปูทั้งในจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดนครนายก ตลอดจนเก็บปูที่สงสัยเป็นแหล่งโรคส่งตรวจหาพยาธิใบไม้ปอดตัวอ่อนในระยะติดต่อ
เกณฑ์ที่ใช้ในการยืนยันการวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ การตรวจพบไข่พยาธิใบไม้ปอดในเสมหะ หรือตรวจพบไข่พยาธิใบไม้ปอดในอุจจาระ หรือตรวจเลือดพบแอนติบอดีต่อพยาธิใบไม้ปอด
ผลการสอบสวน
1. ผลการสอบสวนโรคในโรงงาน
โรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานผลิตนาฬิกาเพื่อส่งออก ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มีพนักงาน 930 คน เมื่อวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2551 โรงงานได้ว่าจ้างโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งตรวจสุขภาพประจำปีให้พนักงาน 836 คน ผลการตรวจพบผู้ป่วย 2 ราย ซึ่งทำงานในห้องเดียวกัน สงสัยเป็นโรคปอดบวม (Pneumonia) และวัณโรคปอด (Pulmonary Tuberculosis) โรงงานจึงส่งตรวจเสมหะเพื่อค้นหาเชื้อวัณโรค (Sputum AFB x 3 days) ในพนักงานทั้ง 139 คน ที่ทำงานในห้องเดียวกับผู้ป่วย โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวรายงานผลว่าไม่พบเชื้อวัณโรค แต่พบไข่พยาธิใบไม้ปอดในเสมหะ 46 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นพนักงานหญิงมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี 35 ราย (76.1%) นครนายก 10 ราย (21.7%) และสระบุรี 1 ราย (2.2%) มีอาการไอเรื้อรัง 3 ราย (6.5%) ได้แก่ ผู้ป่วยวัณโรคปอด ผู้ป่วยโรคปอดบวม และผู้ป่วยโรคหอบหืด พนักงาน 45 ราย (97.8%) มีประวัติเคยรับประทานปูดิบหรือปรุงสุกๆ ดิบๆ เป็นประจำ สำหรับอาหารที่ปรุงจากปูซึ่งพนักงานรับประทานบ่อยที่สุดได้แก่ส้มตำปูดองจากร้านค้าภายในโรงงาน
ผลการตรวจยืนยันการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาควิชาปรสิตและหนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ปรากฏว่าไม่พบไข่พยาธิใบไม้ปอดจากเสมหะหรืออุจจาระ และไม่พบแอนติบอดีต่อพยาธิใบไม้ปอดในพนักงานทั้ง 46 ราย
2. สถานการณ์โรคพยาธิใบไม้ปอด จังหวัดนครนายก และปทุมธานี
ในจังหวัดนครนายก พบผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ปอด 16 ราย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนครนายกระหว่าง 1 มกราคม 2546 31 ตุลาคม 2551 เป็นผู้ป่วยใน 10 ราย ผู้ป่วยนอก 6 ราย โดยอัตราส่วนผู้ป่วยในต่อผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นใน พ.ศ. 2549 -2551 (รายละเอียดแสดงในแผนภูมิที่ 1) มีผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ปอดกระจายเกือบทุกเดือนโดยพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในเดือนพฤษภาคม ตุลาคม (รายละเอียดแสดงในแผนภูมิที่ 2) อัตราส่วนผู้ป่วยเพศชายต่อเพศหญิงเท่ากับ 1: 1 ค่ามัธยฐานอายุเท่ากับ 49 ปี (อายุต่ำสุด 32 ปี อายุสูงสุด 76 ปี) ผู้ป่วยร้อยละ 75 (12 ราย) ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป
อาการและอาการแสดงที่พบบ่อยที่สุดตามลำดับ ได้แก่ ไอเรื้อรัง ตรวจพบไข่พยาธิในเสมหะ ไอปนเลือดหรือเสมหะสีคล้ายสนิม ตรวจเอกซเรย์ทรวงอกพบ Abnormal lungs infiltration มีไข้ และตรวจเลือดพบ Eosinophilia ร้อยละ100, 100, 87.5, 75.0, 56.3 และ 56.3 ตามลำดับ (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 1) สำหรับโรงพยาบาลปทุมธานีไม่พบผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ปอดในช่วง 1 มกราคม 2546 31 ตุลาคม 2551
 3. ผลการศึกษาสิ่งแวดล้อม
ภายในโรงงานดังกล่าวมีโรงอาหารหนึ่งแห่ง มีร้านค้าจำหน่ายอาหารปรุงจากปูสุกๆ ดิบๆ หนึ่งร้าน ซึ่งได้แก่ ส้มตำปูดอง และยำปูดอง ปูที่นำมาประกอบอาหารซื้อมาจากร้านค้าส่งแห่งหนึ่งในตลาดไท อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สำหรับบริเวณที่ผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ปอดจังหวัดในนครนายกจับปูมารับประทานเป็นลำธารในภูเขาและน้ำตกที่มีน้ำไหลผ่านตลอดปี จากการตรวจปูพบตัวอ่อนระยะเมตาเซอร์คาเรีย ของ Paragonimus westermani ในปูหินที่จับมาจากคลองมะเดื่อ และคลองเขาพระ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก แต่ไม่พบจากปูแสมจากตลาดไท จังหวัดปทุมธานี (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 2)
ภาพถ่ายปูหินที่จับมาจากคลองมะเดื่อ



  

ภาพถ่ายเมตาเซอร์คาเรียที่พบในปูหินจากคลองมะเดื่อ
















แผนภูมิที่ 1 แสดงจำนวนผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ปอด จำแนกตามปีที่ได้รับการวินิจฉัยและลักษณะการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนครนายก ระหว่าง มกราคม 2546 ตุลาคม 2551

 แผนภูมิที่ 2 แสดงจำนวนผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ปอดจำแนกตามเดือนที่ได้รับการวินิจฉัยที่โรงพยาบาลนครนายก ระหว่าง มกราคม 2546 ตุลาคม 2551
ตารางที่ 1 แสดงอาการและอาการแสดงผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ปอดที่ได้รับการวินิจฉัยที่โรงพยาบาลนครนายก ระหว่าง มกราคม 2546 ตุลาคม 2551

อาการ/อาการแสดง
จำนวนผู้ป่วย (ราย)
ร้อยละของผู้ป่วย
มีอาการ (n=16)
มีอาการ
ไม่มีอาการ
ไม่มีข้อมูล
1. ไอเรื้อรัง
16
0
0
100
2. ไอปนเลือดหรือเสมหะสีคล้ายสนิม
14
0
2
87.5
3. มีไข้
9
7
0
56.3
4. ตรวจพบไข่พยาธิใบไม้ปอดในเสมหะ
16
0
0
100
5. ตรวจพบ Abnormal lungs infiltration
12
0
4
75.0
6. ตรวจพบ Eosinophilia
9
1
6
56.3














ตารางที่ 2 แสดงผลการตรวจปูเพื่อหาตัวอ่อนระยะเมตาเซอร์คาเรียของพยาธิใบไม้ปอด จากแหล่งในจังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนครนายก   

แหล่งปู
จำนวนปู (ตัว)

สายพันธุ์ที่พบ
ส่งตรวจ
ตรวจพบ
จ.ปทุมธานี
- ปูแสมจากตลาดไท

20

0

-
จ.นครนายก
- ปูหินจากน้ำตกวังม่วง อ.ปากพลี
- ปูหินจากคลองมะเดื่อ อ.เมือง
- ปูหินจากคลองเขาพระ อ.เมือง
- ปูนาจาก ต.พรหมณี อ.เมือง

7
10
4
5

0
1
1
0

-
Paragonimus westermani
Paragonimus westermani
-












อภิปรายผล
1.              การยืนยันการวินิจฉัยและการระบาดโรค
พนักงานโรงงาน 46 ราย ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวรายงานว่าตรวจพบไข่พยาธิใบไม้ปอดในเสมหะส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ มีพียง 3 ราย (6.5%) ที่มีอาการไอเรื้อรัง แตกต่างจากลักษณะผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ปอดที่พบตามปกติ ซึ่งร้อยละ 94 มักจะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอเรื่อรัง ไอปนเลือดหรือเสมหะสีคล้ายสนิม [3, 4]
มาตรฐานการตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ปอดได้แก่ การตรวจพบไข่พยาธิหรือตัวพยาธิในเสมะหรือในอุจาระ (Direct examination or concentration method) หรือตรวจเลือดพบแอนติบอดีต่อพยาธิใบไม้ปอด (Western blot for detection IgG antibody) ซึ่งวิธีหลังนี้ใช้การเจาะเลือดเพียงครั้งเดียวและสามารถตรวจพบแอนติบอดีต่อพยาธิใบไม้ปอดได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการ โดยมีความไว ความจำเพาะและค่าพยากรณ์บวกสูงถึงร้อยละ 100, 97 และ 88 ตามลำดับ [4]  ในกรณีของพนักงานโรงงานผลการตรวจยืนยันโดยห้องปฏิบัติการซึ่งมีความเชี่ยวชาญทั้งสามแห่งไม่พบผู้ป่วยยืนยันโรคพยาธิใบไม้ปอด การที่ห้องปฏิบัติการเอกชนที่โรงงานว่าจ้างในการตรวจสุขภาพประจำปีพนักงาน รายงานพบไข่พยาธิใบไม้ปอดในเสมหะของพนักงานสันนิษฐานว่าเป็นผลบวกลวง ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้เนื่องจากเป็นการตรวจโดยการย้อมสีแอซิดฟาส (Acid fast stain) ซึ่งไม่ใช่วิธีมาตรฐานในการตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ปอด ส่วนการที่โรงงานส่งตรวจเสมหะเพื่อค้นหาเชื้อวัณโรค ในพนักงานทั้ง 139 คน ที่ทำงานในห้องเดียวกับผู้ป่วยวัณโรคถือเป็นการดำเนินการที่น่าชมเชย
จากข้อมูลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการซึ่งยืนยันว่าไม่มีผู้ป่วย และจากประวัติของพนักงานซึ่งไม่พบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิใบไม้ปอด ถึงแม้พนักงานส่วนใหญ่มีประวัติรับประทานปูดิบเป็นประจำ แต่ปูที่รับประทานเป็นปูแสม ตลอดจนจากข้อมูลการศึกษาทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่พบตัวอ่อนพยาธิในปูแสม จึงสรุปว่าไม่มีผู้ป่วยยืนยัน และไม่มีการระบาดการระบาดของโรคพยาธิใบไม้ปอดในโรงงานแห่งนี้
2.              ลักษณะทางระบาดวิทยาของโรคพยาธิใบไม้ปอด
พบว่าโรคพยาธิใบไม้ปอดเป็นโรคประจำถิ่น(Endemic) ของจังหวัดนครนายก โดยพบรายงานครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2506 และพบประปรายมาตลอดจนถึง พ.ศ. 2530  ในช่วง พ.ศ. 2546 - 2551 มีผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ปอดได้รับการวินิจฉัยที่โรงพยาบาลนครนายก รวม 16 ราย  พ.ศ. 2549 พบมากถึง 6 ราย การพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอาจมีความสัมพันธ์กับการมีเขื่อนชลประทานแห่งใหม่ในพื้นที่และการเพิ่มขึ้นของปูหินในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะ พ.ศ. 2549 ประชาชนในอำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ตั้งข้อสังเกตว่ามีปูหินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนผู้ป่วยน่าจะมีความสัมพันธ์กับฤดูกาล โดยพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในฤดูฝน ทั้งนี้น่าจะมีสาเหตุจากประชาชนนิยมจับปูหินมารับประทานในช่วงต้นฤดูฝน ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา พบว่าผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ปอดส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยใน ทั้งนี้สันนิษฐานว่ามีสาเหตุจากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยล่าช้าจึงมีอาการรุนแรงจนต้องรักษาแบบผู้ป่วยใน
3.              แหล่งโรคและวิธีการถ่ายทอดโรค
พบตัวอ่อนระยะเมตาเซอร์คาเรียของ Paragonimus westermani ในปูหินที่จับมาจากคลองมะเดื่อ และคลองเขาพระ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นระยะติดต่อและก่อโรคในมนุษย์ได้ แสดงว่าปูหินในพื้นที่ดังกล่าวมีโอกาสเป็นแหล่งโรคพยาธิใบไม้ปอด สอดคล้องกับการรายงานของเดชา ศรีสนธิ์ [2] ซึ่งพบพยาธิใบไม้ปอดตัวอ่อนระยะเมตาเซอร์คาเรียของ Paragonimus westermani และ Paragonimus heterotremus จากปูหินในจังหวัดนครนายก นอกจากนั้นยังพบพฤติกรรมการรับประทานปูหินดิบหรือปรุงสุกๆ ดิบๆ ในหมู่บ้านใกล้แหล่งที่มีปูหินชุกชุมจึงมีความเสี่ยงต่อการติดโรคพยาธิใบไม้ปอด

สรุปผล
                ไม่พบผู้ป่วยยืนยันเป็นโรคพยาธิใบไม้ปอดในโรงงานดังกล่าวและไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคพยาธิใบไม้ปอดในจังหวัดปทุมธานีมาก่อน ในขณะที่จังหวัดนครนายกมีโรคพยาธิใบไม้ปอดเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic area) โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยใน สันนิษฐานว่าแหล่งโรคพยาธิใบไม้ปอดในจังหวัดนครนายกได้แก่ปูหิน และโรคถ่ายทอดผ่านทางการรับประทานปูหินดิบ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ

ข้อเสนอแนะ
1. การวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ปอดควรตรวจยืนยันด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการวิธีมาตรฐาน ซึ่งได้แก่ การตรวจเสมหะหรือการตรวจอุจาระโดยตรง (Direct examination or concentration method) หรือยืนยันโดยการตรวจหาแอนติบอดีต่อพยาธิใบไม้ปอด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่เคยมีรายงานโรคมาก่อนควรส่งตรวจยืนยันการวินิจฉัยกับห้องปฏิบัติการที่มีประสบการณ์ เช่น ห้องปฏิบัติการภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือห้องปฏิบัติการภาควิชาปรสิตหนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
2. ควรให้สุขศึกษาและจัดกิจกรรมรณรงค์ให้พนักงานโรงงานงดรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เพื่อป้องกันโรคพยาธิใบไม้ปอดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตหากมีปูที่มีพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อเข้ามาในพื้นที่ ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรคติดต่อเกิดจากอาหารอื่นๆ
3. ควรดำเนินกิจกรรมป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีปูหินชุกชุมในจังหวัดนครนายก เช่น หมู่บ้านใกล้น้ำตก หรือใกล้ลำธารในภูเขา ควรเน้นให้ประชาชนรู้จักโรคพยาธิใบไม้ปอดและวิธีป้องกันโรคโดยการปรุงปูหินให้สุกก่อนรับประทาน
4. ควรศึกษาความชุกของโรคพยาธิใบไม้ปอดในชุมชนใกล้แหล่งน้ำที่มีปูหินชุกชุมในจังหวัดนครนายก โดยอาจศึกษาทั้งในมนุษย์และสัตว์รังโรค เช่น สุนัข แมว ทั้งนี้เพื่อให้ทราบขนาดของปัญหาที่ชัดเจนและเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการป้องกันและควบคุมโรคต่อไป

ปัญหาและข้อจำกัดในการสอบสวนโรค
ไม่สามารถเรียกตัวอย่างเสมหะที่รายงานว่าตรวจพบไข่พยาธิใบไม้ปอดจากห้องปฏิบัติการเอกชนผู้ถูกว่าจ้างจากโรงงานเพื่อนำมาตรวจซ้ำได้ บันทึกเวชระเบียนผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ปอดขาดรายละเอียดโดยเฉพาะประวัติการรับประทานอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค และไม่สามารถสำรวจสิ่งแวดล้อมบริเวณที่เป็นแหล่งปูที่ผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ปอดจับมารับประทานได้ทั่วถึงเนื่องจากอุปสรรคด้านการคมนาคม

กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณ รศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงศ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.พารณ ดีคำย้อย มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์วัฒนพงศ์ วุทธา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และคณะ ที่ให้ความอนุเคราะห์ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ  ขอขอบคุณพนักงานโรงงาน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครนายก โรงพยาบาลปทุมธานี โรงพยาบาลนครนายก และสำนักระบาดวิทยาที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการสอบสวนโรคเป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง
1.             ชูเกียรติ ศิริวิชยกุล, ศรชัย หลูอารีย์สุวรรณ, และสนั่น แย้มพุฒ. ตำราปรสิตวิทยาทางการแพทย์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: เมดิคัลมีเดีย; 2539.
2.             เดชา ศรีสนธิ์, จิตรา ไวคกุลม, สนั่น แย้มพุฒ. พยาธิใบไม้ปอด. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ลิฟวิ่ง ทรานส์มีเดีย; 2540.
3.             Kyeongman J, Won-Jung K, Joungho H. Clinical Features of Recently Diagnosed Pulmonary Paragonimiasis in Korea. Chest. 2005;128(3):1423 – 1430.
4.             Liu Q, Wei F, Liu W, Yang S. Paragonimiasis: an important food-borne zoonosis in China. Trends in Parasitology. 2008;24(7):318 - 23.
5.             Maleewong W. Recent advances in diagnosis of paragonimiasis. Southeast Asian J Trop Med Public Health. 1997;28 Suppl 1:134-8.